ใครอยากปลูกฟักทองมาทางนี้ ! แนะนำวิธีเลือกพันธุ์ฟักทอง พืชผักสวนครัวของไทยที่หลายคนอยากลองปลูกเอง มีพันธุ์อะไร ต้องเตรียมตัวอย่างไร มาดูกัน
ฟักทอง ผักสวนครัวพื้นบ้านที่เราทุกคนต่างรู้จักและคุ้นเคยกันเป็นอย่างดี มีการใช้ฟักทองในการทำอาหารมากมาย ทั้งของคาว ของหวาน และเครื่องดื่ม หรือจะต้มกินเล่น ๆ เป็นอาหารว่าง อาหารลดน้ำหนักก็เยี่ยมไปเลย ปัจจุบันนี้เริ่มมีคนนิยมหันมาปลูกฟักทองไว้กินเองที่บ้าน วันนี้เราเลยจะพามือใหม่หัดปลูกฟักทองมาเตรียมตัวกัน เริ่มตั้งแต่พันธุ์ฟักทองมีอะไรบ้าง การเตรียมตัวก่อนปลูก ขั้นตอนการปลูก ไปจนถึงวิธีการดูแลรักษาต้องทำอย่างไรบ้าง กระปุกดอทคอมได้รวบรวมมาไว้ให้คุณแล้ว ตามไปดูพร้อมกันค่ะ
ถิ่นกำเนิดของฟักทอง
ฟักทองมีถิ่นกำเนิดมาจากทวีปอเมริกาเหนือ ถูกนำมาใช้ปรุงอาหารตั้งแต่ 7,500-5,000 ปี ก่อนคริสตกาลแล้ว ตั้งแต่อดีตจนถึงปัจจุบัน ทั่วโลกมีการปลูกฟักทองกันอย่างแพร่หลายในเชิงพาณิชย์ ใช้เป็นอาหาร เพื่อความสวยงาม และปลูกเพื่อเป็นงานอดิเรก ได้รับความนิยมต่างกันไปตามแต่ละพื้นที่ และเป็นตัวแทนในวันสำคัญต่าง ๆ มากมาย เช่น
- ประเทศแคนาดาและสหรัฐอเมริกา นิยมเอาฟักทองมาทำเป็นพายฟักทองในวันขอบคุณพระเจ้า
- ช่วงฮาโลวีน จะถูกนำมาแกะสลักเป็นโคมไฟสำหรับประดับตกแต่งบ้าน
- ชาวจีนมีความเชื่อว่าฟักทองเป็นตัวแทนแห่งความเจริญรุ่งเรือง เหลือกินเหลือใช้ นิยมประดับตกแต่งฟักทองทั้งแบบสดและแบบโมเดลตามโต๊ะหรือหิ้งต่าง ๆ
- ประเทศไทย เกษตรกรชาวไทยแทบทุกภาคทั่วประเทศปลูกฟักทองเป็นอาชีพเพื่อสร้างรายได้
ลักษณะของฟักทอง
ฟักทอง จัดอยู่ในกลุ่มพืชตระกูลแตง (Cucurbitaceae) เช่นเดียวกับแตงกวา ฟักแฟง มะระ บวบ และแตงโม เป็นต้น เป็นพืชล้มลุกปีเดียว (มีอายุไม่เกิน 1 ปี) ลำต้นเป็นเถาเลื้อย ยาวตั้งแต่ 3-6 เมตร ลำต้นอ่อนเป็นห้าเหลี่ยมหรือกลม ข้อปลายมีหนวดแยก 3-4 แฉก ใบนิ่ม รูปร่างห้าถึงเจ็ดเหลี่ยมหรือเกือบกลม กว้าง 10-20 เซนติเมตร ยาว 15-30 เซนติเมตร มีขนสาก ๆ ระคายมือ ริมใบมีรอยหยักเว้าลึก 5-7 หยัก ดอกมีเพศผู้และเพศเมียอยู่ในต้นเดียวกัน ผลในแต่ละสายพันธุ์จะมีรูปร่าง ขนาด และรอยหยักของผิวที่แตกต่างกัน มีทั้งแบบกลม แบบแป้น เนื้อในส่วนใหญ่จะเป็นสีเหลือง เหลืองอมส้ม สีเหลืองอมเขียว และสีส้ม เป็นต้น มีเมล็ดรูปร่างคล้ายไข่แบนอยู่ด้านในสุดจำนวนมาก
สายพันธุ์ของฟักทองยอดนิยม
1. ฟักทองพันธุ์หนัก
มีขนาดใหญ่ที่สุด ลักษณะผิวด้านนอกขรุขระตะปุ่มตะป่ำ สีเขียวเข้มจนเกือบดำ บางพันธุ์อาจจะมีลวดลายสีเหลือง สีเขียวอ่อน หรือสีขาว แซมอยู่บ้าง ผลใหญ่ น้ำหนักประมาณ 5-8 กิโลกรัม ผลแป้น เป็นพู เนื้อหนาสีเหลืองและสีเหลืองอมเขียว รสชาติหวาน มัน และเหนียว ได้แก่
- ฟักทองทองอำไพ 342 (เจียไต๋) และฟักทองทองอำไพ 426 (เจียไต๋)
- ฟักทองทองอำพัน 346 (เจียไต๋)
- ฟักทองประกายเพชร (ศรแดง)
- ฟักทองลายข้าวตอกลูกใหญ่ ได้แก่ ฟักทองประกายเงิน (ศรแดง)
- ฟักทองคางคก ได้แก่ ฟักทองทองเนื้อ 4 (เสือดาว) ฟักทองทองเนื้อ 9 (เสือดาว)
2. ฟักทองพันธุ์เบา
ผลขนาดกลาง น้ำหนักต่อผลประมาณ 2-3 กิโลกรัม รูปทรงของผลมีลักษณะแป้น เป็นพู เนื้อหนาสีเหลืองและสีเหลืองอมส้ม รสชาติหวาน มัน และเหนียว ได้แก่
- ฟักทองอัสนี (ศรแดง)
- ฟักทองศรีเมือง 016 (เจียไต๋)
- ฟักทองลายข้าวตอกลูกกลาง ได้แก่ ฟักทองทองคำ 443 (เจียไต๋) ฟักทองข้าวตอก 573 (ศรแดง) และฟักทองบัตเตอร์นัท
3. ฟักทองพันธุ์เล็ก
ขนาดจะเล็กกะทัดรัด น้ำหนักอยู่ที่ประมาณ 0.8-1.5 กิโลกรัม รูปทรงของผลมีลักษณะแป้น เป็นพู เนื้อหนาสีเหลือง
- ฟักทองบึงกาฬ 021 (เจียไต๋)
- ฟักทองญี่ปุ่น
ปลูกฟักทอง เตรียมอะไรบ้าง
เอาล่ะ เมื่อได้รู้จักสายพันธุ์ต่าง ๆ ของฟักทองและเลือกได้แล้วว่าต้องการจะปลูกพันธุ์ไหน ก็มาเตรียมความพร้อมก่อนปลูกฟักทองได้เลย
1. การเตรียมพื้นที่และแปลงปลูกฟักทอง
ฟักทองมีลำต้นเลื้อยไปตามพื้น มีหนวดเกี่ยวพันไปตามพื้นดิน จึงต้องการพื้นที่ในการปลูกเยอะ โดยให้เว้นระยะห่างระหว่างต้นประมาณ 0.75-1.5 เมตร โดยคำนึงถึงความเหมาะสมของพื้นที่ปลูกเป็นสำคัญ เช่น
- พื้นที่ขนาดเล็ก สามารถปลูกระยะ 1.5x1.5 เมตร ข้อดีคือ ได้ผลผลิตต่อพื้นที่เยอะกว่าแบบอื่น แต่อาจจะลำบากต่อการจัดการ เพราะเถาของฟักทองจะกระจายเต็มพื้นที่
- การปลูกแถวเดี่ยว ทำแปลงเดี่ยว ความกว้างของแปลงประมาณ 1.8-2 เมตร เว้นระยะห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร จะสามารถจัดการเถาฟักทองให้เลื้อยไปตามแนวแปลงได้ง่าย
- การปลูกแถวคู่ ยกร่องแปลงเป็น 2 ด้าน ความกว้างของแปลงประมาณ 3.5-5 เมตร เว้นระยะห่างระหว่างต้น 1.5 เมตร จะสามารถจัดการเถาฟักทองให้เลื้อยจรดกันสองด้านพอดี มีร่องทางเดิน ทำให้ทำงานได้สะดวกมากขึ้น
2. การเตรียมดินปลูกฟักทอง
ฟักทองเจริญเติบโตได้ดีในดินร่วนปนทรายที่มีความชื้นในดินที่พอเหมาะ จึงควรใช้ปุ๋ยคอกและปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้วในการย่อยดิน เพื่อให้ดินมีความร่วนซุย สามารถระบายน้ำได้ดี หากที่ดินนั้นเคยใช้เพาะปลูกมานาน ควรใส่ปูนขาวเพื่อปรับสภาพความเป็นกรดด้วย และควรไถดินให้ลึกประมาณ 25-30 เซนติเมตร เพราะฟักทองเป็นพืชที่มีระบบรากแบบฝังลึก
3. เลือกช่วงเวลาในการปลูกฟักทอง
ฟักทองชอบอากาศร้อนและแห้ง ต้องการแสงแดดเต็มที่ตลอดทั้งวัน แต่ต้องมีความชื้นในดินที่เพียงพอด้วย อุณหภูมิที่เหมาะสมอยู่ที่ประมาณ 30 องศาเซลเซียส ในประเทศไทยสามารถปลูกฟักทองได้ดีที่สุดในช่วงเดือนพฤศจิกายน-กุมภาพันธ์
วิธีเลือกเมล็ดพันธุ์ฟักทอง
โดยทั่วไปมีอยู่ 2 แบบที่นิยมใช้ปลูก คือ “เมล็ดพันธุ์แบบผสมเปิด” สามารถเก็บไว้ขยายพันธุ์ต่อได้เอง แต่ในปัจจุบันหาได้ยาก เนื่องจากบริษัทผลิตเมล็ดพันธุ์จะเลือกผลิต “เมล็ดพันธุ์แบบลูกผสม” แทน เพราะให้ผลผลิตสูง ขนาดของต้น ผล และการเจริญเติบโตดี แต่ไม่สามารถนำเมล็ดไปปลูกต่อได้ เกษตรกรจึงต้องมีค่าใช้จ่ายกับเมล็ดพันธุ์ฟักทองในราคาที่สูงขึ้น ดังนั้น จึงควรพิจารณาวิธีการปลูกแทนเพื่อลดต้นทุนในส่วนนี้ลง
วิธีการปลูกฟักทอง
วิธีการปลูกที่นิยมมีอยู่ 2 แบบ ได้แก่
1. การปลูกฟักทองแบบหยอดเมล็ด
- ขุดหลุมเล็ก ๆ ลงไปในดินประมาณ 2.5-5 เซนติเมตร รองก้นหลุมด้วยปุ๋ยคอกหรือปุ๋ยหมักที่สลายตัวดีแล้ว
- หยอดเมล็ดฟักทองลงไปหลุมละ 3-5 เมล็ด
- กลบด้วยดินผสมละเอียดหรือขี้เถ้าแกลบดำ
- รดน้ำให้ชุ่ม คลุมด้วยฟางเพื่อรักษาความชุ่มชื้นของผิวหน้าดิน
- ภายใน 3-4 วัน ต้นกล้าจะงอกพ้นพื้นดิน มีใบจริง 2-3 ใบ ให้ถอนต้นกล้าที่อ่อนแอทิ้งไป เหลือไว้หลุมละ 1 ต้นเท่านั้น
2. การปลูกฟักทองแบบเพาะกล้า
- นำเมล็ดฟักทองล้างน้ำ 1-2 รอบ แช่น้ำทิ้งไว้ประมาณ 20-30 นาที และห่อด้วยผ้าขาวบาง
- นำเมล็ดไปบ่มไว้ในกล่องพลาสติกใส 3-5 วัน
- เมื่อเมล็ดแตกรากออกมาจึงค่อยย้ายไปเพาะในถาดเพาะกล้า
- รดน้ำเป็นประจำ จนต้นกล้ามีใบจริง 1-2 ใบ จึงย้ายไปปลูกในแปลง
การดูแลรักษาฟักทอง
เมื่อต้นฟักทองเริ่มเจริญเติบโต ควรมีการดูแลรักษา ใส่ปุ๋ย รดน้ำ พรวนดิน และกำจัดโรคหรือแมลงศัตรูพืชที่อาจจะสร้างความเสียหาย ดังนี้
1. การให้ปุ๋ย
ในระยะแรกของการปลูกฟักทอง เมื่อมีอายุได้ 10-14 วัน ควรให้ปุ๋ยไนโตรเจน เช่น ปุ๋ยยูเรีย ในอัตรา 10-15 กิโลกรัมต่อไร่ จากนั้นให้ใส่ปุ๋ยสูตร 14-14-21 ตอนต้นฟักทองมีอายุได้ 21-25 วัน โดยให้โรยข้างแถวแล้วพรวนดินกลบ จากนั้นรดน้ำให้ชุ่ม
2. การให้น้ำ
ฟักทองเป็นพืชที่ไม่ชอบน้ำขังแฉะ ควรให้น้ำในปริมาณที่พอเหมาะ ในช่วงที่ต้นฟักทองกำลังออกดอกและติดผล ควรรดน้ำอย่างสม่ำเสมอ ไม่ควรปล่อยให้ขาดน้ำ ระบบการให้น้ำที่ดีคือ ให้น้ำเข้าร่อง เพื่อให้น้ำซึมเข้าสู่ดินโดยตรง ไม่ควรพ่นน้ำผ่านใบของฟักทอง เพราะอาจจะทำให้ใบเปียกน้ำจนเป็นโรคเน่าได้
3. การพรวนดินและการกำจัดวัชพืช
ควรทำอย่างสม่ำเสมอตอนที่ต้นฟักทองยังเล็ก และเมื่อต้นฟักทองเริ่มโต ตอนเลื้อยคลุมดินแล้วก็จะไม่มีวัชพืชขึ้นอีก ซึ่งก็ไม่ต้องพรวนดินอีกเช่นกัน
4. การกำจัดโรคหรือแมลงศัตรูพืชที่อาจจะสร้างความเสียหาย
โรคที่มักเกิดกับฟักทองคือ โรคราน้ำค้าง เป็นโรคที่เกิดทางใบ มักระบาดในช่วงฤดูฝน หรือการให้น้ำแบบพ่นฝอย สามารถป้องกันได้ด้วยการไม่ให้น้ำแบบพ่นฝอย นอกจากนี้ปัญหาแมลงศัตรูฟักทองนั้นมีไม่มากนัก เพราะใบและก้านที่มีขนช่วยในการป้องกันภัยจากแมลงได้ดี
การเก็บเกี่ยวฟักทอง
สำหรับฟักทองพันธุ์เล็ก สามารถเริ่มเก็บเกี่ยวได้เมื่อมีอายุ 45-60 วัน ส่วนฟักทองพันธุ์กลางจนถึงพันธุ์ใหญ่ 120-180 วัน หากต้องการเก็บผลอ่อนให้สังเกตที่เปลือก ถ้าฟักทองยังอ่อนผิวจะนิ่ม สีเขียว และเนื้อข้างในจะนุ่ม ส่วนผลที่แก่จัดเต็มที่ ผิวเปลือกจะแข็ง และควรเก็บให้เหลือเถาประมาณ 7-10 ซม. ติดมาด้วย เพื่อยืดอายุและรักษาผลของฟักทองที่เก็บเกี่ยวมาให้อยู่ได้นานที่สุดนั่นเอง
มาถึงตอนนี้หลายคนคงได้คำตอบแล้วว่า หากต้องการปลูกฟักทองควรเลือกสายพันธุ์ไหน และต้องเตรียมตัวอย่างไรก่อนปลูกบ้าง การปลูกฟักทองไม่ใช่เรื่องยากเลยค่ะ เพราะแค่อาศัยความตั้งใจและความใส่ใจในการดูแล เพียงเท่านี้คุณก็สามารถปลูกฟักทองได้แล้ว
เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ วิธีปลูกฟักทอง :
ขอบคุณข้อมูลจาก : kasetsomboon.com, sentangsedtee.com และ plookphak.com