วันไหว้เทพฮินดู สำคัญอย่างไร มีวันไหนบ้าง

เปิดปฏิทิน วันไหว้เทพเจ้าฮินดู ในแต่ละเดือน ตรงกับวันไหนบ้าง เป็นวันของเทพองค์ใด มีความสำคัญอย่างไร พร้อมวิธีบูชาที่บ้านเอาใจสายมู

ของไหว้เทพฮินดู

วันไหว้เทพเจ้าฮินดู เป็นวันสำคัญของศาสนาฮินดู และสายเทวะมันตราผู้ที่นับถือเทพเจ้าฮินดู ใครต้องการไหว้ขอพรเทพองค์ไหน เราได้รวบรวมวันไหว้เทพฮินดูมาฝาก หนึ่งในวันวันสำคัญทางศาสนาฮินดู แต่ละวันสำคัญอย่างไร มีที่มาที่ไปอย่างไร และบูชาองค์เทพแต่ละวันอย่างไรบ้าง ไปดูเลย

กุมภาพันธ์

วันวสันตปัญจมี

วันวสันตปัญจมี

ตรงกับ : วันพุธที่ 14 กุมภาพันธ์ 2567

วสันตปัญจมี (Vasant Panchami) หรือ สรัสวดีบูชา วันแห่งการบูชาพระสรัสวดี พระองค์เป็นเทวีแห่งปัญญา มีความรู้ความเชี่ยวชาญศาสตร์ทุกแขนง ทั้งอักษรศาสตร์ วิทยาศาสตร์ แพทยศาสตร์ ครุศาสตร์ ศิลปะ ดนตรี เป็นต้น  เชื่อว่าผู้ที่ไหว้จะมีสติปัญญาเฉลียวฉลาด มีความสามารถรอบรู้ มีความเจริญรุ่งเรืองและความก้าวหน้า โดยชาวฮินดูจะแต่งกายด้วยผ้าสีเหลือง ในโรงเรียนจะมีกิจกรรมสวดมนต์เพื่อขอพรด้านการเรียน ด้านสติปัญญา เชื่อว่าจะประสบความสำเร็จด้านการศึกษา มีกิจกรรมรื่นเริงต่าง ๆ เช่น การเล่นกีฬาสี มีการร่ายรำถวายองค์เทพ รวมทั้งมีการแบ่งขนมและของว่างกับเพื่อนหรือเพื่อนร่วมงาน

คาถาบูชาพระแม่สรัสวดี

“โอม ชยะ ศรี สรัสวตี มาตา” (3 จบ) 

“โอม สรัสวตี นะมัส ตุภะยัม วาระเท กามะรูปินี วิทยา รัมภัม กะริชยามิ สิทธิ ภะวะตุ เม สะทา”

มีนาคม

มหาศิวราตรี

มหาศิวราตรี

ตรงกับ : วันศุกร์ที่ 8 มีนาคม 2567

มหาศิวราตรี (Maha Shivaratri) วันแห่งการบูชาพระศิวะ เป็นวันราตรีแห่งพระศิวะ ถือเป็นเทพแห่งการทำลายล้างสิ่งชั่วร้าย และประทานพรให้ผู้ทำความดี ในบางตำนานเชื่อว่าวันนี้เป็นวันประสูติของพระศิวะ บางตำนานเชื่อว่ามีขึ้นเพื่อเฉลิมฉลองพระศิวะทรงสมรสกับพระนางปารวตี 

ในวันนี้ชาวฮินดูจะออกมารวมตัวกันที่วัดเพื่อบูชาพระศิวะ มีการสวดมนต์เพื่อสรรเสริญองค์เทพ พร้อใกับบูชาด้วยของโปรดของพระศิวะ ได้แก่ น้ำเย็นและนม และในช่วงกลางคืนก็จะก่อไฟในบ้านเพื่อบูชาพระศิวะ และนำศิวลึงค์ ซึ่งเป็นสัญลักษณ์ของพระองค์มาบูชา เชื่อว่าผู้ที่ไหว้จะมีชื่อเสียงเกียรติยศ ประสบความสำเร็จในหน้าที่การงาน อีกทั้งยังมีความเชื่อว่าจะช่วยให้สุขสมหวังในความรัก แลมีชีวิตที่ดีอีกด้วย 

คาถาบูชาพระศิวะ (พระอิศวร)

“โอม นะมัส ศิวายะ” (3 จบ)

“โอม กระปูระเคารัม กรุณาวะตารัม สัมสาระสารัม ภุชะเคน ทระหารัม สะทาวะสันตัม หะริทะยาระวินเท ภะวัมภะวาณิ สะหิตัม นะมามิ”

เมษายน

วันพระรามนวมิ

วันพระรามนวมิ

ตรงกับ : วันพุธที่ 17 เมษายน 2567

พระรามนวมิ (Ram Navami) หรือ วันประสูติของพระราม ที่ชาวฮินดูเชื่อว่าเป็นร่างอวตารของพระวิษณุ ซึ่งในวันนี้จะมีการเฉลิมฉลองต่อเนื่องกัน 9 วัน 9 คืน โดยจะมีการถวายของบูชารอบกองไฟและสวดสรรเสริญ เชื่อว่าผู้ที่ไหว้จะมีความสุขสงบและเจริญรุ่งเรือง

สิงหาคม

วันวาราลักษมี วรัทตัม

วันวาราลักษมี วรัทตัม

ตรงกับ : วันอาทิตย์ที่ 25 สิงหาคม 2567

วันวาราลักษมี วรัทตัม (Varalakshmi Vratham) วันบูชาพระแม่ลักษมี เทวีแห่งความงดงาม มั่งคั่ง และอุดมสมบูรณ์ วันนี้ชาวฮินดูจะต้องตื่นแต่เช้าเพื่อเตรียมของบูชา ชำระร่างกายให้สะอาด และสวมใส่เสื้อผ้าสีชมพูหรือแดง จากนั้นจะเดินทางไปเข้าร่วมพิธี หรือจะทำพิธีไหว้ขอพรพระแม่ลักษมีที่บ้านก็ได้ ผู้ที่ไหว้สามารถขอพรในเรื่องความรัก คู่ครอง และความสามัคคีในครอบครัว รวมไปถึงความมั่งคั่งร่ำรวยได้อีกด้วย

คาถาบูชาพระแม่ลักษมี

“โอม ชยะ ศรี ลักษมี มาตา (3 จบ) 

โอม ศรี ลักษะมิไย นะมะห์ (3 จบ)

“โอม มหาลักษะ มิไย นะโม นะมะหะ โอม วิษณุ ปรียาไย นะโม นะมะหะ โอม ธะนะ ประทาไย นะโม นะมะหะ โอม วิศวา จะนันไย นะโม นะมะหะ ยา เทวี สะระวะ ภูเตชุ ลักษมี รูเปนะ สัม สะถิตา นะมัส ตัสไย นะมัส ตัสไย นะมัส ตัสไย นะโม นะมะหะ”

วันกฤษณะจันมาสตามิ

วันกฤษณะจันมาสตามิ

ตรงกับ : วันจันทร์ที่ 26 สิงหาคม 2567

กฤษณะจันมาสตามิ (Krishna Janmashtami) หรือ วันประสูติของพระกฤษณะ ตรงกับวันแรม 8 ค่ำ เดือน 9 ซึ่งชาวฮินดูจะถือศีลอดก่อน 1 วัน ตั้งแต่ตอนเช้าถึงเที่ยงคืนเพื่อแสดงความศรัทธา ส่วนในวันงานก็จะมีการสวดมนต์ที่เกี่ยวกับประวัติและคำสอนของพระกฤษณะ เชื่อว่าใครที่ไหว้จะสมหวังในความรัก ชีวิตมีความเจริญรุ่งเรือง และอยู่เย็นเป็นสุข

บทบูชาพระกฤษณะ

“ฮะเร กฤษณะ ฮะเร กฤษณะ กฤษณะ กฤษณะ ฮะเร ฮะเร ฮะเร รามะ ฮะเร รามะ รามะ รามะ ฮะเร ฮะเร”

กันยายน

เทศกาลคเณศจตุรถี

เทศกาลคเณศจตุรถี

ตรงกับ : วันเสาร์ที่ 7 กันยายน 2567

เทศกาลคเณศจตุรถี (Ganesh Chaturthi) วันประสูติของพระพิฆเนศ มีอีกชื่อว่า คชานนท์ ซึ่งเป็นโอรสของพระศิวะกับพระศรีมหาอุมาเทวี (พระแม่ปารวตี) ลักษณะคือ มีกายเป็นมนุษย์ แต่มีเศียรเป็นช้าง  

โดยเป็นวันที่พระองค์จะเสด็จมาประทานพรให้ผู้ศรัทธา แต่ละบ้านเรือนจะจัดหาเทวรูปพระคเณศมาบูชา มีการสวดมนต์บูชา ถวายอาหารมังสวิรัติ และร้องรำทำเพลง และในวันสุดท้ายจะมีพิธีลอยเทวรูปลงสู่แม่น้ำหรือทะเล เชื่อว่าใครที่ไหว้จะประสบความสำเร็จ มีความมั่งคั่ง มีสติปัญญาเฉลียวฉลาด และมีความสามารถด้านศิลปะ 

คาถาบูชาพระพิฆเนศ

“โอม ศรีคะเนศายะ นะมะ ชะยะคะเณศะ ชะยะคะเณศะ ชายะคะเณศะ เทวา มาตา ชากี ปะระวะตี ปิตามะหา เทวา ละฑุวัน  กาโกคะ ละเค สันตะ กะเร เสวา เอกทันตะ ทะยาวันดะ จาระ ภุชา ธารี มาเถ สินทูระ เสเห มูเส กี อะสะวารี อันธะนะ โก อางขะ เทตะโก กายา พามณะนะ โก กุตรระ เทตะ โกทินะ นิระ ทะนะ มายาฯ โอม ศรีคะเนศายะ นะมะหะ” (สวด 3 จบ แล้วขอพร)

ตุลาคม

งานนวราตรี

งานนวราตรี

ตรงกับ : วันพฤหัสบดี 3 ถึง วันเสาร์ 12 ตุลาคม 2567

งานนวราตรี (Navaratri) หรือเทศกาลนวราตรี มาจากคำว่า นว ที่แปลว่า เก้า และ ราตรี แปลว่า ค่ำคืน เมื่อนำมารวมกันก็จะมีความหมายว่า “เก้าค่ำคืน” เป็นเทศกาลบูชาพระแม่พระตรีศักติ ร่างอวตารรวม 3 มหาเทวี ได้แก่ พระแม่ปารวตี พระลักษมี และพระสุรัสวดี จะจัดขึ้น 2 ครั้งปต่อปี ช่วงขึ้นปีใหม่ วันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 5 และช่วงปลายปี วันขึ้น 1-9 ค่ำ เดือน 9 เพื่อขอพลังแห่งชีวิต โดยในวันนี้จะมีการถือศีลอด พร้อมทั้งมีการถวายเครื่องสังเวย สรงน้ำองค์เทวรูป สวดมนต์บูชาตลอดวันตลอดคืน รวมถึงมีการแห่องค์เทวรูปไปรอบโบสถ์และรอบเมือง เชื่อว่าใครที่ไหว้จะประสบความสำเร็จดังที่หวังทุกประการ

พฤศจิกายน

วันดิวาลี

วันดิวาลี

ตรงกับ : วันศุกร์ที่ 1 พฤศจิกายน 2567

ดิวาลี ดีปาวลี, ทิวาลี หรือ ทีปาวลี (Diwali) เป็นเทศกาลปีใหม่ของชาวฮินดู ซึ่งจะจัดขึ้นในวันแรม 15 ค่ำ เดือน 11  เพื่อเฉลิมฉลองให้เหล่าองค์เทพและรำลึกถึงการมีชัยเหนือความชั่วทั้งปวง เป็นการบูชาเทพทั้งหมด 5 องค์ ได้แก่ พระกุเวร พระแม่สุรัสวดี พระอินทร์ พระพิฆเนศ และจะให้ความสำคัญกับพระแม่ลักษณมีเป็นพิเศษ เพราะเชื่อว่าเป็นเทพแห่งทรัพย์สินเเงินทอง โดยจะมีการจุดประทีปหรือโคมไฟประดับประดาตามบ้านเรือนต่าง ๆ รวมถึงสถานที่สักการะ เพื่อเป็นสัญลักษณ์แห่งแสงสว่างในชีวิตและเปิดทางให้กับความดีงามทั้งหลายเข้ามาสู่ชีวิต

คาถาบูชาพระแม่ลักษมี

“โอม ชยะ ศรี ลักษมี มาตา (3 จบ)

โอม ศรี ลักษะมิไย นะมะห์ (3 จบ)

“โอม มหาลักษะ มิไย นะโม นะมะหะ โอม วิษณุ ปรียาไย นะโม นะมะหะ โอม ธะนะ ประทาไย นะโม นะมะหะ โอม วิศวา จะนันไย นะโม นะมะหะ ยา เทวี สะระวะ ภูเตชุ ลักษมี รูเปนะ สัม สะถิตา นะมัส ตัสไย นะมัส ตัสไย นะมัส ตัสไย นะโม นะมะหะ”

หลังจากดูปฏิทินวันไหว้เทพฮินดูกันไปแล้ว คราวนี้ก็สามารถวางแผนไปมูเพื่อขอพรกันได้เลย หรือใครจะบูชาที่บ้านเราก็มีบทสวดมาฝากกันด้วย

เรื่องอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้องกับการบูชาเทพฮินดู :

ขอบคุณข้อมูลจาก : hinduamerican.org, npru.ac.th, krishna.com และ ramnavami.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
วันไหว้เทพฮินดู สำคัญอย่างไร มีวันไหนบ้าง อัปเดตล่าสุด 9 กันยายน 2567 เวลา 11:20:09 73,909 อ่าน
TOP
x close