x close

15 ต้นไม้ฟอกอากาศในบ้านที่นาซารับรอง ดูดสารพิษได้ แต่งบ้านก็สวย

          รวมรายชื่อต้นไม้ฟอกอากาศที่นาซารับรอง ดูดซับสารพิษได้จริง ปลูกในบ้านช่วยเพิ่มอากาศบริสุทธิ์ แถมยังแต่งบ้านได้สวยอีกด้วย
          มลภาวะทางอากาศในเมืองไทยเริ่มรุนแรงขึ้นทุกที ทั้งฝุ่น PM2.5 และเขม่าควันจากยวดยานพาหนะ ที่เป็นตัวการหลักทำให้อากาศบริสุทธิ์หดหายไปเรื่อย ๆ หลายคนเริ่มหันมาพึ่งพาเครื่องฟอกอากาศ (คลิกอ่าน 10 เครื่องฟอกอากาศกรองฝุ่น PM2.5 พร้อมดักจับเชื้อโรคและสารก่อภูมิแพ้) แต่ก็มีคนที่เริ่มหันมาปลูกและสนใจต้นไม้ ฟอกอากาศภายในบ้านเพื่อดูดซับสารพิษต่าง ๆ กันมากขึ้นจนเกิดเป็นเทรนด์ฮิตขึ้นมา
          ซึ่งจากรายงานเรื่อง Interior Landscape Plants for Indoor Air Pollution Abatement เป็นการศึกษาค้นคว้าขององค์การบริหารการบินและอวกาศแห่งชาติ หรือองค์การนาซา (NASA) ร่วมกับ Associated Landscape Contractors of America (ALCA) ได้ค้นพบว่า ไม้ประดับธรรมดาที่ปลูกในบ้านหรือที่เราใช้ตกแต่งห้อง ต่าง ๆ ของเรานี่แหละ มีประสิทธิภาพในการดูดซับและกำจัดสารพิษที่ปนเปื้อนอยู่ในอากาศ เช่น สารฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทิลีน เบนซิน และสารมลพิษอื่น ๆ เรามาดูตัวอย่างบางส่วนของต้นไม้ฟอกอากาศที่ดีที่สุดที่ได้รับการยอมรับจากนาซาว่าสามารถฟอกอากาศบริสุทธิ์ได้จริง และเป็นที่ยอมรับกันในวงกว้างทั่วโลก และยังช่วยให้ห้องเราสวยงามขึ้นอีกเป็นกองเลยล่ะค่ะ

1. เดหลี

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          เดหลี (Peace Lily, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Spathiphyllum Species) ต้นไม้ในร่มที่ช่วยดูดซับและกำจัดสารเบนซิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทิลีน แอมโมเนีย ไซลีน โทลูอีน และสารมลพิษอื่น ๆ ในอากาศได้ มีอายุหลายปี สีขาวสวย มีกลิ่นหอม ความสูงประมาณ 40-70 เซนติเมตร ปลูกใส่กระถางสานเก๋ ๆ ไว้ในห้องได้

          วิธีปลูกต้นเดหลี
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม เช่น ห้องนอน ห้องนั่งเล่น
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์  
          การรดน้ำ : วันละ 1 ครั้ง หรือ 2 วันต่อครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 16-32 องศาเซลเซียส

2. เบญจมาศ

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          เบญจมาศ (Chrysanthemum, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Dendranthemum grandifflora) ไม้ดอกสีสันสดใสที่คนชอบปลูกในบ้าน มีส่วนช่วยในการกรองสารพิษอย่าง แอมโมเนียและเบนซีน ซึ่งเป็นสารพิษที่พบมากในพลาสติก ผงซักฟอก และกาว ปลูกง่าย เลี้ยงง่าย มีหลายสายพันธุ์ มีขนาดเล็ก สูงประมาณ 75-80 เซนติเมตร ปลูกจนโตเต็มที่แล้วก็ตัดมาเสียบแจกันประดับตกแต่งบ้านหรือห้องพักได้อีกด้วย

          วิธีปลูกเบญจมาศ
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : กลางแจ้ง ริมระเบียง หรือปลูกในห้องนั่งเล่น, ห้องครัว
          แสง : ชอบแดดจัด
          การรดน้ำ : วันละ 1 ครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 5-45 องศาเซลเซียส

3. ตีนตุ๊กแกฝรั่ง

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          ตีนตุ๊กแกฝรั่ง (English Ivy, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Hedera helix) ช่วยดูดซับและกำจัดสารเบนซีน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทิลีน ไซลีน และโทลูอีน ออกจากอากาศได้ เป็นไม้เถาเลื้อย ใบเป็นแฉกคล้ายใบตำลึง มีหลากสี หลายพันธุ์ ปรับตัวได้ดี ดูแลไม่ยาก ได้รับความนิยมในการนำไปปลูกเพื่อแต่งบ้านในแถบยุโรป จับมาใส่กระถางวางบนชั้นให้ใบค่อย ๆ ห้อยลงมาก็สวยไปอีกแบบ

          วิธีปลูกต้นตีนตุ๊กแกฝรั่ง
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม เช่น ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : 3 วันต่อครั้ง หรือรดเมื่อดินแห้งสนิท
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 5-30 องศาเซลเซียส

4. ลิ้นมังกร

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          ลิ้นมังกร (Snake plant หรือ Mother-in-law’s tongue, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Sansevieria laurentii) พืชในร่มที่แข็งแรงและสมบูรณ์แบบที่สุด ไม่ต้องดูแลเยอะ มีอายุอยู่ได้หลายปี สามารถกำจัดสารพิษที่ระเหยอยู่ในอากาศได้อย่างดี และยังช่วยผลิตออกซิเจนที่บริสุทธิ์ในเวลากลางคืนด้วย ใบเป็นรูปหอก แข็ง หนา ตั้งตรง มีลวดลาย สีเขียวเข้มอมเทา พร้อมแถบสีเขียวอ่อนพาด หลายคนจึงนิยมนำมาประดับตกแต่งห้อง

          วิธีปลูกลิ้นมังกร
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม เช่น ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น, ห้องน้ำ
          แสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : วันละ 1 ครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 5-45 องศาเซลเซียส

5. เยอบีรา

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          เยอบีรา (Gerbera Daisy, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Gerbera Jamesonii) ช่วยดูดซึมสารพิษในอากาศและผลิตออกซิเจนในระดับสูงตอนกลางคืน เป็นประโยชน์อย่างมากสำหรับผู้ที่มีภาวะหยุดหายใจขณะหลับหรือผู้ที่มีอาการหายใจผิดปกติ เป็นไม้ดอกที่นิยมนำมาประดับตกแต่งสวน แต่ดอกที่บานไม่ทนนาน ร่วงเร็ว จึงดูแลรักษาค่อนข้างยาก

          วิธีปลูกเยอบีรา
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น
          แสง : ใต้ร่มเงา, แสงแดดรำไร
          การรดน้ำ: 2-3 วันต่อครั้ง หรือรดเมื่อดินแห้งสนิท
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-25 องศาเซลเซียส

6. พลูด่าง

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          พลูด่าง (Money Plant หรือ Devil's ivy, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Epipremnum aureum) สามารถกำจัดสารเบนซีน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน และโทลูอีน ที่อยู่ในอากาศได้ ปลูกง่าย ตายยาก เหมาะปลูกในอาคารหรือที่อยู่อาศัย มีข้อควรระวังเล็กน้อย คือ ใบเป็นพิษต่อเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง หากมีสัตว์เลี้ยงต้องปลูกให้สูงขึ้นสักนิดนะคะ

          วิธีปลูกพลูด่าง
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ที่ไหนก็ได้ แต่ให้ห่างจากเด็กเล็กและสัตว์เลี้ยง
          แสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : 3 วันต่อครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-45 องศาเซลเซียส

คลิกอ่าน พลู 10 ชนิด สวยงาม เลี้ยงง่าย ดูแลไม่ยาก แถมปลูกได้ทั้งในและนอกบ้าน

7. แก้วกาญจนา

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          แก้วกาญจนา อโกลนีมา หรือเขียวหมื่นปี (Aglaonema หรือ Chinese Evergreen, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Aglaonema commutatum) ช่วยกำจัดเบนซีนและฟอร์มาลดีไฮด์ รวมถึงสร้างออกซิเจนในปริมาณมากด้วย มีพันธุ์ที่เป็นที่นิยมมากกว่า 100 สายพันธุ์ สีสันฉูดฉาดสวยงาม แต่งบ้านได้หลายมุม แต่ผลัดใบง่าย ต้องดูแลเป็นพิเศษ

          วิธีปลูกแก้วกาญจนา
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : วันละ 1 ครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-30 องศาเซลเซียส

8. เศรษฐีเรือนใน

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          เศรษฐีเรือนใน (Spider plant หรือ Airplane Plant, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Chlorophytum comosum) สามารถกำจัดสาร VOC หรือสารอินทรีย์ระเหยง่ายที่มักพบในสารประกอบหรือสารทำละลายในงานอุตสาหกรรมต่าง ๆ รวมถึงคาร์บอนมอนอกไซด์และไซลีนด้วย เป็นพุ่มใบเรียวสีเขียว-เหลือง โค้งงอแผ่ขยายลงด้านล่าง ปลูกในกระถางเล็ก ๆ ก็น่ารักน่าเอ็นดู

          วิธีปลูกเศรษฐีเรือนใน
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : 3 วันต่อครั้ง หรือรดเมื่อดินแห้งสนิท
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-30 องศาเซลเซียส

9. ว่านหางจระเข้

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          ว่านหางจระเข้ (Aloe Vera, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Aloe barbadensis mill) พืชที่มีสรรพคุณครอบจักรวาล นำมาใช้รักษาโรคตั้งแต่สมัยโบราณ ทนทานต่อทุกสภาพอากาศ และมีประสิทธิภาพในการกำจัดเบนซีนและฟอร์มาลดีไฮด์ เนื้อข้างในยังสามารถนำไปทำอาหาร ขนม และเครื่องดื่มได้หลายเมนูด้วย

          วิธีปลูกว่านหางจระเข้
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น, ริมระเบียงที่รับแสง
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงแดดรำไร
          การรดน้ำ : 2 วันต่อครั้ง หรือรดเมื่อหน้าดินเริ่มแห้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-45 องศาเซลเซียส

10. จั๋ง

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          จั๋ง (Broad Lady Palm หรือ Bamboo palm, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Chamaedorea seifrizii) ช่วยดูดซับและกำจัดเบนซิน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไตรคลอโรเอทิลีน ไซลีน และโทลูอีน ในอากาศ ช่วยลดระดับแอมโมเนียที่พบได้ในผลิตภัณฑ์ทำความสะอาดหลายประเภทได้ด้วย ลักษณะต้นเป็นกอ สูงประมาณ 2-4 เมตร ใบเป็นแฉกคล้ายพัด สีเขียวเข้มเป็นมัน ปลูกในภาชนะสาน หรือไม้ จะช่วยแต่งห้องให้ดูมินิมอลมากขึ้น

          วิธีปลูกจั๋ง
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น, ทางเข้าบ้าน
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : 2-3 วันต่อครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-35 องศาเซลเซียส

11. ยางอินเดีย

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          ยางอินเดีย (Rubber Plant หรือ India Rubber Fig, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ficus elastica) ด้วยใบที่มีขนาดใหญ่ จึงมีประสิทธิภาพในการดูดซับและกำจัดฟอร์มาลดีไฮด์ สารเคมี รวมถึงช่วยดูดซับคาร์บอนไดออกไซด์และเปลี่ยนให้เป็นออกซิเจนที่บริสุทธิ์ และยังสามารถกำจัดแบคทีเรียและสปอร์ของเชื้อราในอากาศได้อีกด้วย เป็นไม้ยืนต้น ใบกลมหนา สีต่างกันไปตามสายพันธุ์ เช่น เขียว เหลือง และแดง เรามักจะเห็นบ่อยตามคาเฟ่ หากใครอยากแต่งห้องครัวสไตล์คาเฟ่เก๋ ๆ ต้องซื้อมาลอง

          วิธีปลูกยางอินเดีย
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม, ในสวนที่มีพื้นที่ เพราะต้นยางอินเดียสามารถสูงได้ถึง 1-2 เมตร จึงควรเลือกปลูกในบริเวณที่มีพื้นที่
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : 3 วันต่อครั้ง หรือรดเมื่อดินแห้งสนิท
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 12-30 องศาเซลเซียส

12. หน้าวัว

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          หน้าวัว (Anthurium, Flamingo Flower หรือ Pigg-tail flower, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Anthurium andraeanum) เป็นไม้ดอกไม้ประดับสำหรับแต่งบ้านที่ช่วยดูดซับและกำจัดฟอร์มาลดีไฮด์ แอมโมเนีย ไซลีน และโทลูอีน ในอากาศได้ ใบสวยงามแต่แตกต่างกัน ส่วนใหญ่เป็นรูปหัวใจ ดอกออกเหนือก้านใบ ออกได้ตลอดทั้งปี ปลูกติดบ้านไว้มองเห็นตอนไหนก็ชื่นใจแน่นอน

          วิธีการปลูกหน้าวัว
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : วันละ 1 ครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-30 องศาเซลเซียส

13. ฟิโลเดนดรอน ใบหัวใจ

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          ฟิโลเดนดรอน ใบหัวใจ (Philodendron Heartleaf หรือ Sweetheart plant, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Philodendron cordatum) มีประสิทธิภาพในการทำความสะอาดฟอร์มาลดีไฮด์โดยเฉพาะ ลักษณะเป็นไม้เลื้อย ใบรูปหัวใจสีเขียวสดใส ใบใหญ่สวยงาม เข้ากันดีกับการแต่งบ้านสไตล์ลอฟท์ ปูนเปลือย ทำให้บ้านดูเท่และสดชื่นขึ้น

          วิธีปลูกฟิโลเดนดรอน
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : 3-4 วันต่อครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-30 องศาเซลเซียส

14. เฟิร์นบอสตัน

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          เฟิร์นบอสตัน (Boston Fern หรือ Fishbone Fern, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Nephrolepis exaltata) ช่วยกำจัดฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน โทลูอีน และเชื้อโรคในอากาศ เชื้อรา แบคทีเรีย จากอากาศภายในอาคาร ลักษณะต้นเป็นพุ่มสวยงาม ใบทึบแน่น โค้ง และแข็ง ลักษณะคล้ายใบมะขาม นำมาแต่งห้องสีขาวก็จะช่วยเพิ่มสีเขียวให้ห้องดูสดชื่นขึ้นเยอะ

          วิธีปลูกเฟิร์นบอสตันในบ้าน
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : ในร่ม ห้องนอน, ห้องนั่งเล่น
          สภาพแสง : ใต้ร่มเงา, แสงประดิษฐ์
          การรดน้ำ : วันละ 2 ครั้ง เช้า-เย็น
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-35 องศาเซลเซียส

15. ไทรย้อยใบแหลม

ต้นไม้ฟอกอากาศ

          ไทรย้อยใบแหลม (Weeping Fig, ชื่อวิทยาศาสตร์คือ Ficus benjamina) สามารถกำจัดเบนซีน ฟอร์มาลดีไฮด์ ไซลีน และโทลูอีน ได้ เป็นไม้ยืนต้น ใบหนาเป็นมัน ปรับตัวได้ดีกับทุกสภาพอากาศ จึงได้รับความนิยมนำมาปลูกเป็นอย่างมาก

          วิธีปลูกไทรย้อยใบแหลม
          ตำแหน่งที่ควรปลูก : ห้องนั่งเล่น, ริมระเบียงที่รับแสง
          พื้นที่และตำแหน่งที่ควรปลูก : กลางแจ้ง ห้องนั่งเล่น, ริมระเบียงที่รับแสง
          สภาพแสง : แดดจ้า, แสงแดดรำไร
          การรดน้ำ : 3-4 วันต่อครั้ง
          อุณหภูมิที่เติบโตดี : 15-30 องศาเซลเซียส

          เพราะการอยู่บ้านที่มีอากาศบริสุทธิ์เป็นเรื่องที่สำคัญ เราจึงอยากให้ทุกคนหันมาสนใจเรื่องต้นไม้ฟอกอากาศกัน ยิ่งมีการรับรองจากนาซาด้วยแล้วว่า ต้นไม้เหล่านี้สามารถกำจัดสารพิษและคืนอากาศบริสุทธิ์ให้แก่คุณได้จริง จะรอช้าอยู่ไย ไปปลูกต้นไม้เหล่านี้ในบ้านของคุณกันเถอะค่ะ
บทความที่เกี่ยวข้อง
ขอบคุณข้อมูลจาก
ntrs.nasa.gov, medium.com, mashrita.com
เรื่องที่คุณอาจสนใจ
15 ต้นไม้ฟอกอากาศในบ้านที่นาซารับรอง ดูดสารพิษได้ แต่งบ้านก็สวย อัปเดตล่าสุด 1 พฤศจิกายน 2564 เวลา 17:17:50 225,916 อ่าน
TOP