บ้านน็อคดาวน์ คืออะไร มีข้อดี-ข้อเสียอย่างไร เหมาะกับการอาศัยหรือไม่ ราคาเท่าไร มาหาคำตอบไปพร้อม ๆ กันเลย
ในยุคสมัยที่ค่าก่อสร้างบ้านแพงขึ้นทุกที บ้านน็อคดาวน์ หรือ บ้านสำเร็จรูป กลายเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับคนที่อยากมีบ้านแต่มีงบจำกัด แต่สำหรับคนที่ยังไม่รู้ว่า บ้านน็อคดาวน์ คืออะไร วันนี้กระปุกดอทคอมมีข้อมูลดี ๆ มาฝากกันแล้วค่ะ ไปทำความรู้จักกับบ้านน็อคดาวน์กันเลย ..
บ้านน็อคดาวน์ คืออะไร ?
บ้านน็อคดาวน์ คือ บ้านสำเร็จรูป (Finished Home) ที่สร้างโดยไม่มีเสาและคาน แต่จะใช้ผนังเป็นตัวรับน้ำหนักแทน โดยยึดหลักโครงสร้างผนังรับน้ำหนัก (Wall Bearing System) ใช้วิธีการนำชิ้นส่วนมาประกอบกันให้เป็นตัวบ้าน นอกจากนี้ยังสามารถถอดชิ้นส่วนต่าง ๆ ออก เพื่อให้สะดวกเวลาเคลื่อนย้ายอีก พร้อมทั้งยังมีการวางระบบน้ำและระบบไฟฟ้า รวมถึงการตกแต่งภายในเรียบร้อยแล้ว เมื่อติดตั้งเสร็จก็สามารถเข้าอยู่ได้เลย และตอนนี้ก็มีการพัฒนาวัสดุก่อสร้างให้มีความแข็งแรงทนทาน มีอายุการใช้งานได้นานอีกด้วย
ข้อดีของบ้านน็อคดาวน์
- ใช้เวลาสร้างได้รวดเร็วกว่าการสร้างบ้านระบบเดิม ใช้เวลาสร้างเพียง 15-30 วัน
- มีการวางระบบไฟฟ้าและประปาไว้แล้ว
- สามารถถอดส่วนประกอบเพื่อเคลื่อนย้ายได้
- ราคาประหยัด งบไม่บานปลาย เริ่มที่หลักแสน
- เหมาะสำหรับที่ดินที่มีพื้นที่จำกัด
- ตัดปัญหาเรื่องผู้รับเหมาและแรงงานก่อสร้าง
- ไม่ต้องยื่นแบบขออนุญาตก่อสร้าง
- นิยมทำเป็นร้านกาแฟ บ้านพักตากอากาศ หรือออฟฟิศ เป็นต้น
ข้อเสียของบ้านน็อคดาวน์
- มีโครงสร้างค่อนข้างหนัก จึงอาจเกิดปัญหาบ้านทรุดได้ (แก้ไขได้ด้วยการใช้เสาเข็มที่ยาวกว่าปกติ)
- ไม่เหมาะกับการต่อเติม และดัดแปลงได้ยาก เพราะอาจกระทบกับโครงการ ทำให้เกิดความเสียหายได้
- ไม่ควรตอกตะปู เพื่อตกแต่งบ้านเล็ก ๆ น้อย ๆ เนื่องจากอาจทำให้ผนังและตัวบ้านเสียหายได้
- ปรับเปลี่ยนโครงสร้างใหม่ได้ยาก
- ไม่เหมาะกับครอบครัวที่มีสมาชิกหลายคน
วิธีสร้างบ้านน็อคดาวน์
- ทำการถมดินบริเวณที่จะนำบ้านน็อคดาวน์ติดตั้ง พร้อมกับอัดดินให้แน่นและปรับหน้าดินให้เรียบ
- ทำการตอกเสาเข็ม เพื่อทำฐานราก เหมือนกับการสร้างบ้านแบบก่ออิฐฉาบปูน
- นำพื้นและผนังสำเร็จรูปเข้ามาประกอบตามแบบ โดยใช้เทคนิคการเชื่อมต่อที่แตกต่างกันไป แต่ต้องมั่นคง และกันน้ำรั่วซึม อีกทั้งต้องรับแรงด้านข้างได้
วิธีดูแลบ้านน็อคดาวน์
สิ่งที่ควรระวังสำหรับบ้านน็อคดาวน์ก็คือ เรื่องความร้อนและความชื้น เพราะอาจทำให้วัสดุเกิดชำรุดผุพังได้ ดังนั้นควรหมั่นตรวจรอยรั่วซึม แตกร้าว หากพบก็ซ่อมแซมให้เรียบร้อย นอกจากนี้ควรเปิดหน้าต่างเพื่อให้อากาศถ่ายเทได้สะดวก และระบายความร้อนในบ้าน
ทั้งนี้เทคโนโลยีการผลิตแผ่นผนังบ้านน็อคดาวน์ในปัจจุบันนั้น มีความแตกต่างกันออกไป เช่น ผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก สำเร็จรูป หรือผนังคอนกรีตเสริมเหล็ก แบบแซนวิช (ผนัง 2 แผ่น เว้นช่องไว้สำหรับเทคอนกรีตเชื่อม) หรือทำจากไม้ เป็นต้น โดยใช้การเชื่อมต่อระหว่างผนังด้วย นอต แผ่นคอนกรีตเสริมเหล็กแบบเข้าลิ้น หรือชนิดที่มีระบบล็อคในตัว เป็นต้น
ได้รู้จักกับข้อมูลดี ๆ ของบ้านน็อคดาวน์ไปแล้ว หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังมองหาบ้านทางเลือกที่ราคาประหยัดและสะดวกรวดเร็วอยู่บ้างนะคะ
ได้รู้จักกับข้อมูลดี ๆ ของบ้านน็อคดาวน์ไปแล้ว หวังว่าคงเป็นประโยชน์กับคนที่กำลังมองหาบ้านทางเลือกที่ราคาประหยัดและสะดวกรวดเร็วอยู่บ้างนะคะ