x close

10 วิธีใช้งานไมโครเวฟแบบผิด ๆ ที่จะส่งผลเสียในระยะยาว

          มาดูวิธีใช้ไมโครเวฟแบบผิด ๆ เป็นตัวอย่างที่ควรหลีกเลี่ยง เพราะไม่อย่างนั้นจะส่งผลเสียกับตัวเครื่องและสุขภาพในระยะยาว

ไมโครเวฟ

          ไมโครเวฟ ถือว่าเป็นเครื่องใช้ไฟฟ้าอีกหนึ่งชนิดที่มีเกือบทุกบ้าน วิธีการใช้ก็ไม่ยาก แต่ก็ต้องระวังกันนิดหนึ่ง เพราะแม้การกระทำบางอย่างจะไม่ส่งผลในเร็ว ๆ นี้ แต่หากยังทำแบบนี้กับไมโครเวฟบ่อย ๆ ก็จะส่งผลเสียกับสุขภาพและระบบภายในของไมโครเวฟในระยะยาว ลดความเสี่ยงที่จะเกิดเรื่องไม่คาดคิดกับ 10 วิธีการใช้ไมโครเวฟผิด ๆ ที่นำมาฝากกันในวันนี้ ไว้เป็นตัวอย่างและไม่นำไปทำต่อ พร้อมวิธีใช้งานไมโครเวฟที่ถูกต้อง เพื่อความปลอดภัยของทุกคนที่ใช้ไมโครเวฟ

1. ใช้เวลาอุ่นน้อยเกินไป

 
          การทำอาหารในไมโครเวฟนั้นเป็นเรื่องยาก เพราะเราต้องควบคุมอุณหภูมิและระยะเวลาให้เหมาะสม เพื่อให้อาหารสุกทั่วถึงกันทั้งหมด ไม่อย่างนั้นก็คงต้องกินอาหารกึ่งสุกกึ่งดิบเข้าไปหรือไม่ก็ต้องนำเข้าไปอุ่นใหม่อีกครั้ง ถ้าไม่อยากเป็นแบบนั้น แนะนำให้ใช้อุณหภูมิตั้งแต่ 70 องศาเซลเซียสขึ้นไป และใช้ระยะเวลาอุ่นให้นานหน่อย โดยเฉพาะอาหารประเภทเนื้อสัตว์ เพียงเท่านี้อาหารก็จะสุกพร้อมรับประทาน

2. อุ่นแก้วกาแฟกระดาษ


          คอกาแฟทั้งหลายต้องระวังไว้ให้ดีเลยค่ะ เพราะการที่คุณนำแก้วกาแฟแบบกระดาษเข้าไปอุ่นในไมโครเวฟ ความร้อนจะทำให้กาวละลาย แก้วยุบตัว และเกิดรอยรั่วได้ แต่ถ้าต้องการดื่มแบบร้อน ๆ แนะนำให้เทเครื่องดื่มใส่แก้วเซรามิกหรือแก้วที่ระบุว่าสามารถเข้าไมโครเวฟได้แทนดีกว่า จะได้ไม่ดื่มกาแฟที่ปนเปื้อนสารเคมีอีก

3. อุ่นอาหารทิ้งไว้ในไมโครเวฟ


          วันยุ่ง ๆ ที่คุณต้องทำหลายอย่างในเวลาเดียวกัน อยากจะขอให้เว้นไว้สักอย่าง นั่นก็คือไม่ควรอุ่นอาหารทิ้งไว้ในไมโครเวฟแล้วเดินไปทำธุระอย่างอื่นต่อ เช่น การอุ่นป๊อปคอร์น เพราะถ้าป๊อปคอร์นโดนความร้อนนานเกินไปจะทำให้ไหม้เกรียมได้ หรือแก้ปัญหาโดยการอุ่นตามเวลาที่กำหนดไว้บนบรรจุภัณฑ์ของอาหารก็พอ

4. ไม่ใช้ฝาครอบอาหาร


ไมโครเวฟ

          ถ้าไม่อยากตามทำความสะอาดไมโครเวฟหลังใช้งานทุกครั้ง ก่อนอุ่นอาหารก็ต้องหาฝาครอบอาหารที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้มาครอบไว้ เพื่อไม่ให้อาหารกระเด็นติดภายในเครื่อง อีกทั้งยังช่วยรักษาระดับความร้อนให้อยู่ในอุณหภูมิที่เหมาะสม สุกกำลังดีทั้งด้านนอกและด้านใน ถ้าใครไม่มีฝาครอบจะใช้จานหรือชามครอบแทนก็ได้ค่ะ แต่สิ่งที่นำมาครอบนั้นจะต้องมีช่องระบายไอน้ำด้วยนะคะ

5. ใช้ภาชนะพลาสติก


          หลายคนรู้ดีว่าไม่ควรนำภาชนะพลาสติกเข้าไมโครเวฟเด็ดขาด เพราะอาจทำให้พลาสติกละลายได้ และที่สำคัญในภาชนะพลาสติกเหล่านั้นมีสารเคมีที่ชื่อ Bisphenol A (BPA) ผสมอยู่ ซึ่งส่งผลกระทบต่อการกระตุ้นฮอร์โมนและระบบภูมิคุ้มกันบกพร่อง ยิ่งโดนความร้อนมาก ๆ สารพิษที่ว่านี้ก็จะเข้าแทรกซึมอยู่ในอาหาร แนะนำให้ถ่ายเทอาหารลงภาชนะอื่นที่สามารถนำเข้าไมโครเวฟได้ก่อนจะดีกว่าค่ะ

6. ใช้ภาชนะรีไซเคิล


          หากไลฟ์สไตล์ของคุณคือการใช้ผลิตภัณฑ์ที่ช่วยรักษาสิ่งแวดล้อม ก็ควรดูให้แน่ใจว่าจาน-ชาม ช้อน-ส้อม รวมไปถึงผ้าเช็ดปากที่ผลิตมาจากกระบวนการรีไซเคิลนั้น มีส่วนผสมของเศษโลหะอยู่หรือไม่ เพราะถ้ามีผสมอยู่แล้วนำไปอุ่นในไมโครเวฟ เศษโลหะเหล่านั้นจะทำให้เกิดประกายไฟที่เป็นอันตรายได้

7. ละลายอาหารแช่แข็งทั้งห่อบรรจุภัณฑ์


          ถึงจะรีบทำอาหารขนาดไหนก็ไม่ควรนำอาหารแช่แข็งไปละลายน้ำแข็งในไมโครเวฟทั้งห่อเด็ดขาด เพราะห่อบรรจุภัณฑ์อย่างห่อพลาสติก ถุงกระดาษ และฟอยล์อะลูมิเนียม มีสารพิษอันตรายที่ชื่อ Bisphenol A (BPA) อยู่ เมื่อสารชนิดนี้โดนความร้อนก็จะแทรกซึมเข้าไปในอาหาร ดังนั้น ก่อนละลายน้ำแข็งควรเปลี่ยนบรรจุภัณฑ์ก่อนเข้าไมโครเวฟดีกว่า

8. ใช้อุณหภูมิสูงอุ่นอาหาร


ไมโครเวฟ

          แม้ว่าปุ่มอุ่นอาหารด้วยอุณหภูมิสูงจะทำให้อาหารร้อนเร็วได้ทันใจ แต่ปุ่มนี้ก็ไม่ได้เหมาะกับการอุ่นอาหารทุกชนิดเสมอไป เช่น ผัก เนื้อสัตว์แช่แข็ง หรือเนื้อสัตว์ชิ้นใหญ่ เพราะอาหารจะสุกไม่ทั่วถึง ดังนั้น ควรเลือกใช้อุณหภูมิปานกลาง หั่นแบ่งเนื้อสัตว์ให้มีขนาดพอเหมาะ และละลายน้ำแข็งก่อนอุ่น ก็จะทำให้อาหารนั้นสุกพอดี ไม่เกรียมนอกและดิบใน
 

9. หยิบอาหารไม่สวมถุงมือ

 
          อาหารที่เพิ่งอุ่นเสร็จใหม่ ๆ ร้อนใช่เล่น ดังนั้น ไม่ควรใช้มือเปล่าหยิบเด็ดขาดเพราะอาจทำให้เกิดอุบัติเหตุได้ จากผลการศึกษาของสถาบันสุขภาพแห่งชาติ ประเทศสหรัฐอเมริกา ชี้ให้เห็นว่า ในปี ค.ศ. 2002-2012 มีเด็กที่อายุระหว่าง 1-4 ขวบ จำนวนกว่า 11,000 คน ต้องเข้ารับการรักษาจากอุบัติเหตุโดนของร้อนลวกมือ เพราะหยิบ-จับอาหารที่เพิ่งอุ่นเสร็จโดยไม่ใส่ถุงมือ ฉะนั้นควรจะหาซื้อถุงมือกันความร้อนจากไมโครเวฟมาติดบ้านไว้ และสาธิตการใช้งานให้เด็ก ๆ ได้ดู เพื่อป้องกันอันตรายที่อาจเกิดขึ้น

10. อุ่นเครื่องดื่มจนเดือด

 
          คิดจะอุ่นเครื่องดื่มในไมโครเวฟต้องระวังเรื่องความร้อนให้ดี ๆ เพราะถ้าหากของเหลวมาเจอกับความร้อนมากเกินตั้งแต่ 100 องศาเซลเซียส จะทำให้เกิดการปะทุภายในและเป็นอันตรายอย่างมาก ควรใช้เวลาแต่พอดีหรือแบ่งเป็นช่วงสั้น ๆ ใส่แก้วทรงสูงหรือวางช้อนไว้ในแก้ว ก็จะช่วยให้ของเหลวไม่เดือดเร็วจนเกินไป

          ลองเช็กกันดูแล้วเป็นอย่างไรบ้างคะ ยังมีใครทำแบบนี้อยู่หรือไม่ หากทำอยู่ก็ควรหลีกเลี่ยงให้ไวและปรับมาใช้งานไมโครเวฟให้ถูกต้องจะดีกว่า เพื่อสุขภาพที่ดีของตัวเราและคนในบ้านนั่นเอง แถมเครื่องยังใช้งานได้ยาวนานไม่ต้องเสียเงินซื้อใหม่ให้เปลืองด้วย

เรื่องอื่น ๆ ที่น่าสนใจเกี่ยวกับ ไมโครเวฟ : 



ขอบคุณข้อมูลจาก : rodalesorganiclife, Nih และ greenshopcafe.com

เรื่องที่คุณอาจสนใจ
10 วิธีใช้งานไมโครเวฟแบบผิด ๆ ที่จะส่งผลเสียในระยะยาว อัปเดตล่าสุด 22 มิถุนายน 2567 เวลา 23:54:08 208,347 อ่าน
TOP